ขั้นตอนการสร้างบ้าน

ขั้นตอนและวิธีการปลูก สร้างบ้าน

          การที่มีบ้านเป็นของตัวเองย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป เพราะบ้านเป็นสิ่งที่ให้ความร่มรื่นสุขสบายทั้งกายและใจ แต่การที่ จะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่งนั้น  ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้มา   เนื่องจากปัจจุบันบ้านมีราคาค่อนข้างสูง   นับเป็นภาระอันหนักหนาสาหัสพอสมควรสำหรับคนทั่วไปที่มีรายได้ปานกลาง  ยกเว้นคนที่ร่ำรวยเท่านั้นที่จะไม่เดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องนี้เท่าใดนักดังนั้นก่อน ที่จะตัดสินใจปลูกบ้านสักหลัง  จึงควรที่จะต้องศึกษาขั้นตอนการดำเนินการให้ละเอียดรอบคอบ   เพราะถ้าตัดสินใจผิดพลาดไปแล้ว อาจไม่มีโอกาสให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง  เหมือนกับการซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าได้   และถ้าเป็นเช่นนั้น   บ้านที่หวังว่าจะนำความสุขความสบายให้ความร่มรื่น  อาจกลับกลายเป็นความทุกข์ตลอดชีวิตก็เป็นได้  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงต้องคำนึงถึงขั้นตอนการดำเนินงานสำหรับการปลูกสร้างบ้าน ดังนี้

1. กำหนดรูปแบบและขนาดของบ้าน

    เมื่อท่านมีแผนที่จะปลูกบ้าน ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีแบบบ้านที่อยากได้อยู่ในใจแล้ว  ว่ารูปทรงของบ้านจะเป็นแบบใด ซึ่งในปัจจุบันนี้ บริษัทรับออกแบบและก่อสร้างบ้าน มีอยู่มากมายที่นำเสนอแบบแปลกๆใหม่ๆให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นแบบทันสมัย แบบร่วมสมัย หรือแบบทรงยุโรป เป็นต้น  นอกจากนี้จะต้องคำนึงขนาดและจำนวนห้องให้พอดีกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว  ถ้าเล็กไปคงจะอึดอัด  คับแคบ แต่ถ้าใหญ่เกินไปจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น หรืออาจจะต้องมีสระว่ายน้ำหรือสวนหย่อมภายในบ้านก็แล้วแต่  จะพิจารณาตามความต้องการของท่านหรือสมาชิกในครอบครัว

                                              

 

2. การเลือกบริษัทรับ ออกแบบบ้าน

    เมื่อได้กำหนดรูปแบบ  ขนาดและองค์ประกอบต่างๆของตัวบ้านไว้เรียบร้อยแล้ว   ขั้นตอนต่อไป คือ   การจัดทำแบบรูปรายการและ  ข้อกำหนดต่างๆ เพื่อยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร กับหน่วยราชการเจ้าของพื้นที่  ที่ท่านต้องการปลูก สร้างบ้าน หรือถ้าท่านจำเป็นต้องกู้ธนาคาร ก็ต้องแนบแบบรูปรายการให้ธนาคารพิจารณาด้วยซึ่งการจัดทำแบบดังกล่าวอาจทำได้หลายวิธี เช่น จ้างสถาปนิกอิสระโดยตรง หรือจ้างบริษัทรับออกแบบและก่อสร้างบ้านแบบครบวงจร เป็นต้น แต่ข้อสำคัญต้องกำหนดรายละเอียดองค์ประกอบของบ้าน  ให้ชัดเจนครบถ้วน และตรวจสอบรูปร่างความสวยงามลงตัวของบ้าน  ให้เป็นไปตามความต้องการ ให้แน่ใจก่อนที่จะลงนามในสัญญา   ว่าจ้าง และเมื่อแบบแล้วเสร็จก่อนจะชำระค่าดำเนินการต้องตรวจสอบรายละเอียดของแบบก่อน ดังนี้

- ตรวจสอบแบบแปลนให้แน่ใจว่า ห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับแขก ห้องพักผ่อน แม้กระทั้งบันไดขึ้นลงและเฉลียง ระเบียงต่างๆ ได้ถูกจัดวางตามความต้องการของท่านอย่างถูกต้องแล้ว

                                          

- ตรวจสอบรูปด้านทั้ง 4 ด้านว่ามีความสวยงามจนเป็นที่พอใจ

           

- ตรวจสอบรายการวัสดุต่างๆ เช่น สุขภัณฑ์ กระเบื้องห้องน้ำ กระเบื้องพื้นชั้นล่าง ไม้ปาร์เก้ รายละเอียดประตู หน้าต่างฯลฯ ให้ครบถ้วนจนเป็นที่พอใจ

                                     

- ตรวจสอบผังบริเวณบ้านว่าถูกจัดวางในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว

          รายการตามที่กล่าวมานี้หากยังไม่ถูกต้องมีส่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขให้รีบแจ้งผู้ออกแบบดำเนินการแก้ไข แล้วตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งที่มีการแก้ไขจึงจ่ายค่าดำเนินการ

                    

3. การเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน

    เมื่อมีรูปแบบรายการข้อกำหนดของวัสดุต่างๆเรียบร้อยแล้ว  ก็มาถึงขั้นตอนก่อสร้าง การเลือก บริษัท รับสร้างบ้าน ที่จะมีสร้างบ้าน  ให้ท่านนั้น ควรพิจารณาข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ให้รอบคอบชัดเจนเป็นที่แน่ใจเสียก่อนที่จะทำการว่าจ้างให้เป็นผู้ปลูกสร้างบ้านให้ดูข้อมูลที่จะต้องพิจารณาประกอบไปด้วย

- ชื่อเสียง ผลงานที่ผ่านมาหรือประวัติของบริษัทรับสร้างบ้าน ว่ามีประวัติการก่อสร้างเป็นอย่างไร บ้านที่เคยสร้างมามีคุณภาพดีหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ อาจขอดูบ้านที่บริษัทนั้นเคยสร้างไว้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ

- การให้บริการหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ   ควรหาข้อมูลว่าบริษัทฯ  มีการบริการหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างไร   มีการติดตามดูแลลูกค้าดีสม่ำเสมอหรือไม่ และการเข้าบริการช้าหรือเร็วแค่ไหน เป็นต้น

- ทรัพยากรของบริษัท ควรตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าว มีทรัพยากรที่เพียงพอที่จะสามารถก่อสร้างบ้านของท่านให้มีความสุขดีหรือไม่ ทีมก่อสร้างมีบุคลากรที่มีประสบการณ์มากน้อยเท่าใด เช่น วิศวกรโครงการ ช่างควบคุมงาน ผู้บริหารการก่อสร้างมืออาชีพ เป็นต้น

4. การทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้าน

     เมื่อตัดสินใจทำสัญญาว่าจ้าง  ให้บริษัทรับสร้างบ้านเป็นผู้ปลูกสร้างบ้านให้กับท่านแล้ว  ควรพิจารณารายละเอียดในสัญญา  ให้รอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งงวดงาน การรับประกันสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเวลาแล้วเสร็จหรือเงื่อนไขอื่นๆ จนเป็นที่พอใจ เพื่อป้องกัน  การเกิดปัญหาข้อขัดแย้งในภายหลัง เพราะหากดำเนินการก่อสร้างไปแล้วเกิดข้อขัดแย้งจะทำให้เกิดผลกระทบในทางลบของทุกฝ่าย

5. การจัดเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง

     หลังจากที่ทำสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านแล้ว  ท่านจะต้องจัดเตรียมสถานที่ก่อสร้างบ้านของท่าน  ให้พร้อมที่จะลงมือดำเนินการ  ก่อสร้าง เช่น ถ้ามีบ้านเก่าอยู่ก่อนต้องรื้อถอนให้เรียบร้อย หรือถ้าเป็นพื้นที่มีระดับต่ำ  ต้องทำการถมบดอัดให้สูงพ้นจากสภาวะน้ำท่วม ให้แล้วเสร็จ แต่ถ้าต้องมีการย้ายเสาไฟฟ้า  ประปา  หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่กีดขวาง   ก็ต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนที่จะแจ้งให้บริษัทเข้าดำเนินการ

     ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อแนะนำในขั้นตอนการปลูกสร้างบ้าน ให้ท่านได้ศึกษา เตรียมพร้อมก่อนที่จะทำการตัดสินใจลงมือปลูกสร้างบ้านเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีรายละเอียดในส่วนที่ต้องตรวจสอบในระหว่างการก่อสร้างอีกมากมายที่ต้องดำเนินการ

6. ขั้นตอนงานก่อสร้าง

    ปกติแล้วงานก่อสร้างบ้านพักอาศัย  จะแบ่งลักษณะงานเป็นประเภทใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

6.1 งานฐานราก และโครงสร้าง

6.2 งานผนังและหลังคา

6.3 งานช่องเปิดต่างๆ

6.4 งานระบบไฟฟ้า ประปา

6.5 งานตกแต่งสถาปัตยกรรม

6.1 งานฐานราก และโครงสร้าง

      เป็นงานที่มีความสำคัญที่สุด โดยปกติหากมีความผิดพลาดในงานส่วนนี้ หรือต้องการเปลี่ยนแปลงภายหลังจะมีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสูง ดังนั้นท่านเจ้าของบ้านควรตัดสินใจให้แน่นอนเกี่ยวกับขนาดของห้องต่างๆ และตำแหน่งที่ตั้งก่อนลงมือตอกเสาเข็ม เพื่อป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงหลังจากงานโครงสร้างเริ่มต้นไปแล้วเนื่องจากในการออกแบบโครงสร้างจะมีความสัมพันธ์กันทั้งอาคารการเปลี่ยนแปลงเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง บางครั้งจะกระทำมิได้ อีกทั้งการก่อสร้างในช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 35% ของเวลาทั้งหมด และจะเป็นอุปสรรคต่องานอื่นๆ หากไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้

                                      

6.2 งานผนังและหลังคา

                งานส่วนนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความสวยงามของตัวบ้าน และยังมีผลโดยตรงต่อการใช้งานอาคารในด้านการป้องกันความร้อน แสงแดด และน้ำฝน การตัดสินใจเลือกวัสดุที่จะใช้และขนาดระยะต่างๆ จะต้องเหมาะสมกับการใช้สอยและไม่ก่อให้เกิดปัญหาภายหลัง

                          

6.3 งานช่องเปิดต่างๆ

        หมายถึง ประตูและหน้าต่างทั้งหลาย ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มความสวยงามให้อาคารแล้วยังมีผลต่อระยะเวลาก่อสร้าง เนื่องจากโดยปกติงานส่วนนี้จะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าตั้งแต่การจัดเตรียมช่องเปิดของผนัง และการสั่งผลิตจากผู้จัดจำหน่าย อีกทั้งจะกระทบต่อการจัดวางตำแหน่งของเฟอร์นิเจอร์และงานระบบต่างๆ การตัดสินใจกำหนดตำแหน่งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้น หากมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ระหว่างก่อสร้างจะกระทบถึงค่าใช้จ่ายในงานก่อสร้างมากที่สุด

                                 

6.4 งานระบบไฟฟ้า ประปา

       ศูนย์อำนวยความสะดวกของอาคารคืองานระบบเหล่านี้ หากถูกออกแบบมาไม่เหมาะสม หรือติดตั้งผิดตำแหน่งจะทำให้การใช้ประโยชน์ในอาคารเกิดความไม่สะดวกหรือเกิดอันตรายในบางกรณี เช่น งานไฟฟ้า ดังนั้นจะต้องไตร่ตรองถึงการใช้สอยในส่วนต่างๆ ของอาคารให้รอบคอบก่อนกำหนดตำแหน่งลงไป

6.5 งานตกแต่งสถาปัตยกรรม

       สุดท้ายบ้านจะสวยงามเป็นที่ภาคภูมิใจของท่านเจ้าของบ้านเพียงใดขึ้นอยู่กับการเลือกประเภทวัสดุตกแต่งผิว ทั้งผิวพื้น ผนัง รวมถึงสีที่เลือกใช้ล้วนบ่งบอก รสนิยม อุปนิสัย บางครั้งรวมถึง ความปลอดภัยในการอยู่อาศัย เช่นวัสดุพื้นที่ลื่นหรือหยาบในบางตำแหน่ง และมักจะเป็นส่วนที่มีมูลค่ามากเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ของอาคาร ทั้งนี้มิได้หมายความว่าวัสดุตกแต่งที่มีราคาแพงจะต้องดีเสมอไป ซึ่ง  ผู้ที่จะช่วยท่านตัดสินใจได้ดีในเรื่องนี้คือ สถาปนิกที่ปรึกษาของท่านนั้นเอง

                           

 

ขั้นตอนงานก่อสร้าง

งานโครงสร้าง

        งานด้านโครงสร้างนี้จะเริ่มตั้งแต่ การทำโครงสร้างของฐานราก อันได้แก่ การลงเสาเข็ม และ การหล่อ ตอม่อเพื่อรองรับโครงสร้างของเสา และคานที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นขั้น ตอนถัดไป หลังจากนั้น ก็จะเป็นงานโครงสร้างของ พื้นและบันไดซึ่งจะต้องเชื่อมต่อ กับเสาและ คาน ที่ได้ทำไว้แล้ว โดยการทำพื้น จะต้องเริ่มทำจากชั้นล่างไล่ขึ้น ไปหาชั้นบนเพื่อความสะดวก ในการทำงาน และการลำเลียงวัสดุต่อจากนั้น ก็จะเป็นงานโครงสร้างของหลังคา ซึ่งในปัจจุบันส่วน ใหญ่มักจะทำเป็น โครงเหล็กโดยเชื่อมต่อกับ เสาและคานชั้นบนสุด หลังจากการทำโครงหลังคาอันเป็น งานโครงสร้าง ส่วนสุดท้าย ของตัวบ้านแล้ว ก็มักจะต่อด้วย การมุงหลังคาเลย เพื่อทำหน้าที่คุ้ม แดดคุ้มฝนให้แก่ ตัวบ้านซึ่งจะสร้าง ในลำดับถัดไป ยังมีงานโครงสร้างของรั้วซึ่งอาจจะ ทำก่อน ทำภายหลัง หรือทำไปพร้อมๆ กับงานโครงสร้าง จำเป็นต้อง สร้างตัวบ้านให้ชิดกับรั้ว ก็มักจะทำรั้วภายหลัง เพื่อความสะดวก ในการจัดวาง และลำเลียง วัสดุก่อสร้าง ในระหว่าง การก่อสร้างตัวบ้าน

                                   

             การวางตำแหน่ง และการเดินท่อประปา เนื่องจากในปัจจุบัน บ้านส่วนใหญ่นิยมเดินท่อประปา ระบบฝังใต้พื้นเพื่อความสวยงาม ดังนั้นก่อนการเทพื้นจะต้องแน่ ใจว่าการวางแนวท่อต่างๆ ทำไว้อย่างเรียบร้อย และสอดคล้อง กับตำแหน่งของก๊อกน้ำต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ หรือถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข อย่างไรก็ต้องรีบทำ ในขั้นตอนนี้ก่อนที่จะทำการ เทพื้นกลบแนวท่อ เพราะถ้าเกิดการผิดพลาดขึ้น การแก้ไขจะทำได้ลำบาก

งานปรับระดับดิน

          ก่อนการก่อสร้างบ้านจะต้องมีการปรับที่ดินให้มีความเหมาะสม โดยการถมและขุด หรือบางทีอาจจะใช้ทั้ง การถมและการขุดไปด้วยกัน เช่น การขุดเพื่อทำสระน้ำ, สระว่ายน้ำ, แล้วนำที่ดินที่เหลือ จากการขุดไปถม ในส่วนที่จะทำ การก่อสร้างบ้าน ให้สูงขึ้นเป็นเนิน เป็นต้น 

การขุด

ถ้ามีการขุดระดับต่ำกว่า 2.50 เมตร เพื่อทำห้องใต้ดิน, ทำสระว่ายน้ำ หรือถังเก็บน้ำใต้ดิน จะใช้วิธีตอกเข็มไม้ยาวตลอดแนวการขุดเป็นพืดเพื่อกันดินถล่ม หรือขุดดินปรับเป็นแนวเอียง ถ้าดินมีความเหนียวพอ ก็ไม่ต้องใช้เข็มไม้ตอก ถ้ามีการขุดระดับลึก 5.00 เมตร จะแพงเกินไป เพราะจะต้องใช้แผ่นเหล็ก    (Sheet Pile) ตอกเป็นแนวกันดินถล่ม และใช้เครื่องตอกที่เป็นเครื่องกลซึ่งมีราคาแพงมาก

                                   

 งานฐานราก-เสาเข็ม

รูปแบบของงานเข็มในรูปแบบต่าง ที่ถูกนำมาใช้เพื่อรับน้ำหนักอาคารบ้านเรือน แตกต่างกันไปตามประเภทของเข็มนั้นๆ ดังนั้น จึงควรมีการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน หรือรูปแบบของอาคาร

1. เข็มเจาะ ปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น ในกรณีที่จะนำมาใช้กับบ้าน เนื่องจากเทคนิค และวิธีการไม่ยุ่งยากมาก และราคาก็ไม่แพง ดังที่คิด เราใช้เข็มเจาะเมื่อมีความจำเป็นจะต้องตอกเข็มใกล้ๆ กับบ้านของคนอื่น เช่น ห่าง 0.80 เมตร โดยไม่อยากให้บ้าน ข้างเคียง มีปัญหาแตกร้าว ทรุด หรือซอยที่เข้าพื้นที่ก่อสร้าง มีขนาดแคบมากไม่สามารถจะขนส่งเสาเข็มต้นยาวๆ มาตอกได้ จึงจำเป็นจะต้อง ใช้เข็มเจาะ

2. เข็มกด เป็นการลดความสะเทือนในการตอกเข็มอีกวิธีหนึ่ง และไม่ค่อยยุ่งยากใช้กับโครงสร้างที่ไม่ใหญ่โตหรือรับน้ำหนักมากนัก เช่น โรงรถ กำแพงรั้ว ห้องครัวชั้นเดียว หรืองานเร่งด่วนที่ไม่ต้องการตั้งปั่นจั่น เข็มกดเป็นวิธีการที่ใช้รถแบ็คโฮ ดึงเสาเข็ม คสล. รูปหน้าตัด  6 เหลี่ยม ขนาดยาวต้นละ 6 เมตร มากด โดยใช้แขนเหล็กของรถแบ็คโฮกดลงไป ซึ่งจะไม่มีความสะเทือนกับรอบๆ ข้าง วิธีนี้สะดวกและรวดเร็วแต่ให้ระวังแนวเสาเข็มต้องตั้งให้ตรงแล้วจึงกด ไม่เช่นนั้นเสาจะเบี้ยวหรือหัก หรือทำให้รับน้ำหนัก ได้ไม่ดีเท่าที่ควร

3. เข็มตอก เป็นเข็มที่มีราคาค่อนข้างประหยัด เมื่อเทียบกับเข็มเจาะ สามารถทำงานได้รวดเร็ว จึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย      มานาน แต่ข้อเสียคือ ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนในเวลาตอกมากกว่าเข็มทุกประเภท และเกิดแรงอัดของดินที่เข็มถูกตอกลงไป แทนที่หน้าตัดของเข็ม อาจจะเป็นรูปตัว I หรือสี่เหลี่ยมตัน โดยทั่วไปจะมีขนาดยาวประมาณ 8-9 เมตรต่อท่อน จึงต้องต่อ 2 ท่อน เพื่อให้ได้ระยะความลึก เสาเข็มชนิดนี้ อาจจะทำให้อาคารบ้านเรือน ที่ติดกันแตกร้าว อันเนื่องจากแรงสั่นสะเทือน นอกจากนั้นการดำเนินการยังต้องใช้พื้นที่ เช่น การติดตั้งปั้นจั่น เข็มที่มีความยาว ก่อให้เกิดความ ไม่สะดวก ในการเคลื่อนย้าย

 ฐานราก คือ ส่วนที่ติดกับหัวเสาเข็ม รับน้ำหนักจากเสาถ่ายสู่เสาเข็ม เราสามารถแบ่งฐานรากเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ

ในการทำฐานราก ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ตั้งแต่การเลือกใช้ฐานรากตามสภาพของดิน ควรใช้วัสดุก่อสร้างตามแบบ วิศวกรรม โดยเคร่งครัด ไม่ตัดลดขนาด ปูนที่ใช้ทำฐานรากต้องใช้ปูนโครงสร้าง (Portland Cement) ซึ่งจะมีราคาแพงกว่าปูนฉาบ เพราะหากฐานราก ทรุดตัวแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายแก่บ้าน หรืออาคารทั้งยากต่อการแก้ไขด้วย อัตราส่วนของ ปูน : ทราย : หิน ที่ใช้ในงานฐานราก งานถนน คือ 1 : 2.5 : 4 ควรใช้ปูนโครงสร้างดังที่กล่าวมาแล้ว ตลอดจนมั่นใจว่า หินและทราย มีความสะอาดเพียงพอ

                                 

งานโครงสร้างคอนกรีต

    รูปแบบของงานเข็มในรูปแบบต่าง ที่ถูกนำมาใช้เพื่อรับน้ำหนักอาคารบ้านเรือน แตกต่างกันไปตามประเภทของเข็มนั้นๆ ดังนั้น จึงควรมีการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน หรือรูปแบบของอาคาร

งานโครงหลังคา

การเลือกใช้หลังคาในภูมิอากาศเขตร้อนชื้นอย่างในเมืองไทย มีหลักต้องคำนึงถึงอยู่หลายประการดังต่อไปนี้

 1. หลังคาต้องมีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในบ้านเรา คือสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งมีทั้งความร้อนจากแสงอาทิตย์ และความชื้นในอากาศ ดังนั้นการเลือกใช้หลังคา จึงต้องคำนึงถึงความสามารถ ในการป้องกันความร้อน รวมถึงการออกแบบ ระบบการระบายความร้อนใต้หลังคา และการป้องกันความร้อน โดยใช้วัสดุประเภท ฉนวน ที่สามารถป้องกันความร้อนได้

 2. หลังคาต้องมีความสวยงามกลมกลืนกับรูปทรงของบ้าน หลังคาแต่ละประเภทควรมีลักษณะเฉพาะสะท้อนภาพลักษณ์ของเจ้าของบ้านออกมาแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเลือกใช้หลังคาประเภทใดก็ควรดูจาก ลักษณะรูปทรงของบ้าน ตลอดจนสภาพแวดล้อมภายนอกของบ้านด้วย

 3. หลังคาต้องเหมาะสมกับงบประมาณ หลังคาแต่ละชนิดถึงแม้ว่าในเนื้อที่เท่ากัน แต่ราคาค่าก่อสร้างนั้นแตกต่างกัน เนื่องจากความยากง่ายในการก่อสร้างที่แตกต่างกันรวมถึงวัสดุที่ใช้มากน้อยต่างกัน โดยจำแนกหลังคาบ้านที่นิยมกันอยู่ทั่วไปจากแบบที่ถูกไปสู่แบบที่แพงที่สุดคือ

                                 

                                     หลังคาแบน (Slab)                                  หลังคาเพิงหมาแหงน (Lean To)

                                 

                                  หลังคาทรงจั่ว (Gable)                           หลังคาแบบไร้ทิศทาง (Modern Style)

 4. ความแข็งแรงทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ

 5. เป็นวัสดุที่มีความสามารถในการทนไฟเพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้

 6. เป็นวัสดุที่ไม่เก็บความร้อนและป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ เป็นต้น

วัสดุโครงหลังคา

1.โครงหลังคาเหล็กนั้นยังสามารถแยกเป็น     โครงหลังคาเหล็กกลม ซึ่งนิยมใช้ในหลังคาที่ต้องการรูปทรงที่แปลกตา ตลอดจนมี ระยะช่วงกว้างของเสามากๆ  ส่วนโครงสร้างหลังคาเหล็กอีกประเภทคือ โครงหลังคาที่เป็นเหล็กตัว C ซึ่งมัก จะเป็นเหล็กที่มี ความหนาราวๆ 2.3  มม. เหมาะสำหรับใช้กับกระเบื้องลอนคู่ และความหนาขึ้นมาหน่อยขนาด 3.2  มม. ใช้กับ กระเบื้องโมเนีย นอกจากนี้เหล็กที่ใช้ต้องเป็นเหล็กที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม และจำเป็นต้อง ทาด้วยสีกันสนิม ที่ได้รับมาตรฐานไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง

2. โครงหลังคาไม้เนื้อแข็งต้องเป็นไม้ที่ได้รับการอบ หรือผึ่งจนแห้ง จะต้องไม่มีร้อยแตกร้าวบิด หรืองอ ต้องเป็นไม้ที่ได้มาตรฐาน ของกรมป่าไม้ นอกจากนี้ควรทาน้ำยากันปลวกอย่างน้อย 2 ครั้ง เพราะปลวกในบ้านเราชุกชุมและขยันเหลือเกิน การขึ้นโครงหลังคา ที่เป็นไม้ ควรใช้ไม้เนื้อแข็งขนาดหนา 2” x 6” หรือ 2” x 8” ขึ้นอยู่กับการรับน้ำหนัก และความกว้างของอาคารตาม ความเหมาะสม หากอาคารมีช่วงกว้างมาก ควรใช้ไม้ค้ำยันเสริมความแข็งแรง เป็นโครงถัก ที่ภาษาช่างมักเรียกว่า โครงทรัส (Truss) ส่วนระยะการวางจันทันต้องเว้นระยะประมาณ 1 เมตร เนื่องจากการวางจันทัน ระยะที่ถี่จะช่วยลด ความเสี่ยงที่ทำให้ หลังคาแอ่นได้

วัสดุมุงหลังคาชนิดแผ่นกระเบื้อง สามรถแบ่งออกได้เป็น

- กระเบื้องดินเผา เป็นวัสดุธรรมชาติใช้เป็นวัสดุมุงหลังคาที่ต้องการโชว์หลังคาเช่น บ้านทรงไทย โบสถ์ วิหารกระเบื้องชนิดนี้ใช้มุงหลังคาที่มีความลาดเอียงมากๆ มิฉะนั้นหลังคามีโอกาสจะรั่วได้

 - กระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องซีเมนต์ วัสดุมุงหลังคาชนิดนี้มีความแข็งแรงและสวยงามแต่มีราคาค่อนข้างแพง และมีน้ำหนักมาก ทำให้โครงหลังคาที่จะมุงด้วยกระเบื้องชนิดนี้ต้องแข็งแรงขึ้นเพื่อรับน้ำหนักวัสดุมุงหลังคา กระเบื้องซีเมนต์มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ กระเบื้องสี่เหลียมขนมเปียกปูน ขนาดเล็กที่ใช้มุงกับหลังคาที่มีความลาดเอียงตั้งแต่ 30-45 องศา ส่วนอีกชนิดนั้นเป็นกระเบื้องที่เรียกกันว่ากระเบื้องโมเนียร์ซึ่งสามารถมุงหลังคาในความชันตั้งแต่ 17 องศา

- กระเบื้องคอนกรีตแผ่นเรียบ กระเบื้องคอนกรีตแผ่นเรียบ มีความสวยงามเพราะผิวกระเบื้องมีความเนียนเรียบ

- กระเบื้องซีเมนต์ใยหิน หรือกระเบื้อง เอสเบสทอสซีเมนต์ กระเบื้องชนิดนี้มีคุณสมบัติกันไฟ และเป็นฉนวนป้องกันความร้อน มีราคาไม่แพงและมุงหลังคาที่มีความลาดชันตั้งแต่ 10 องศากระเบื้องซีเมนต์ใยหินสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ตามที่พบในท้องตลาดมี 2ชนิดคือ กระเบื้องลูกฟูกลอนเล็กใช้กับบ้านพักอาศัย ส่วนลูกฟูกลอนใหญ่ใช้กับอาคารขนาดใหญ่ตามสัดส่วนที่รับกันพอดี

- กระเบื้องลอนคู่ระบายน้ำได้ดีกว่ากระเบื้องลูกฟูกเนื่องจากมีลอนที่ลึกและกว้างกว่า จึงนิยมใช้มุงหลังคามากกว่า

2. วัสดุมุงหลังคาโลหะ หรือเรียกกันภาษาช่างว่าหลังคาเหล็กรีด ทำจากแผ่นเหล็กอาบสังกะสีดัดเป็นลอน นิยมใช้ในการมุงหลังคา ขนาดใหญ่เพิ่มสีสันให้กับอาคารสมัยใหม่ แต่วัสดุชนิดนี้มีปัญหาเรื่องความร้อน เนื่องจากหลังคาโลหะกันความร้อนได้น้อยมาก และมีปัญหาเรื่องเสียงในเวลาฝนตก

งานพื้นคอนกรีต

         พื้นสำเร็จรูปมีมากมายหลายชนิด ให้เลือกใช้ ในบ้านพักอาศัยทั่วไปนั้น นิยมใช้พื้นสำเร็จรูปแบบท้องเรียบ ซึ่งใช้ได้ดีในช่วงเสา 3.5 - 4.5 เมตร ในขณะที่ แบบมีรูกลวง (hallow core) นั้นสามารถใช้ในช่วงเสาที่มีความกว้างถึง 6 -15 เมตร นิยมใช้กันใน อาคารขนาดใหญ่ ส่วนพื้นระบบ Post tension คือระบบพื้นคอนกรีตที่มีเหล็กชนิดพิเศษ ที่ออกแบบมา ให้สามารถ รับแรงดึง ได้มาก ๆ เสริมอยู่ภายใน และทำการดึงเหล็กชนิดพิเศษนั้น ให้ตึงเมื่อหล่อคอนกรีตเสร็จแล้ว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของพื้น ช่วยให้พื้นรับน้ำหนักมากขึ้น 

งานก่อผนังฉาบปูน

         ผนัง นั้นเรียกได้ว่าเป็นผิวหนังของบ้าน( skin ) สำหรับผนังภายนอกนั้นคอยปกป้องตัวบ้าน จากความเปลี่ยนแปลงของ อากาศ ร้อนหนาว แดด ลม ฝน ภายนอกบ้าน ส่วนผนังภายในนั้น ทำหน้าที่แบ่งส่วนใช้สอยต่าง ๆ ภายในบ้าน ให้เป็นสัดส่วน ตามการใช้สอย ผนังในบ้านนั้นมีทั้งผนัง ที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้าง หรือที่เราเรียกว่า ผนังรับน้ำหนัก ( ซึ่งแยกย่อยไปอีก เป็น ผนังรับน้ำหนัก ที่เป็น คอนกรีตเสริมเหล็ก และผนังรับน้ำหนัก ที่ใช้การก่ออิฐเต็มแผ่น) ผนังลักษณะนี้ให้นึกภาพง่าย ๆ ว่าเป็นเสาที่ยึดยาวออกไปเป็น ผนังนั่นเอง ผนังชนิดนี้จึงมีราคาค่อนข้างแพงกว่า ผนังปกติสักหน่อย ส่วนผนังอีกประเภท เป็นผนังที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป คือ ผนังที่ไม่ได้ทำหน้าที่รับน้ำหนัก หรือมิได้ทำตัวเป็นโครงสร้าง

งานสถาปัตยกรรม

        งานตกแต่งเป็นงานที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง งานใดที่ให้ผลงานปรากฏแก่ สายตาของผู้พบเห็น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อถึงความสวยงามเรียบร้อย หรือโดดเด่นประทับใจ ร่วมอยู่ด้วยก็อาจจัดอยู่ในส่วนของ งานตกแต่งได้ ซึ่งงานตกแต่งในที่นี้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานกึ่งก่อสร้าง กึ่งตกแต่งเสียมากกว่า งานหลักใน กลุ่มนี้ได้แก่ การบุฝ้าเพดาน การปูพื้นและบุผนัง การทาสี การติดตั้งสุขภัณฑ์ การติดตั้งดวงโคม ตลอดจนการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ งานในกลุ่มนี้มักจะทำใน ขั้นตอนท้าย ๆ หลังจากเสร็จสิ้นงานในขั้นตอน อื่น ๆ แล้ว

                        

งานตกแต่งผนัง

ประโยชน์ของผนัง

1. แบ่งพื้นที่ใช้สอยในอาคาร

2. เพิ่มความเป็นสัดส่วน เช่น ห้องน้ำกับห้องนอน

3. ป้องกันผู้ใช้อาคารจากธรรมชาติ เช่น กันฝน แดด แมลง

4. ป้องกันผู้บุกรุก

ประเภทผนัง

ผนังหนัก ต้องมีคานมารับ เช่น ผนังก่ออิฐ

     

ผนังเบา จะมีคานมารับหรือไม่ก็ได้ โดยผนังเบาใช้กับโครงสร้าง ไม้ เหล็ก คสล.

     

 แผ่นยิปซัม ขนาด 1.20 x 2.40 m ( แผ่นเล็ก ขนาด 0.60 x 0.60 , 0.60 x 1.20 , 1.20 x 1.20 ก็มีเอาไว้ทำฝ้าเพดาน ) ไม่ควรนำไปใช้เป็นผนังภายนอกเพราะจะไม่ทน

                         

          แผ่นยิปซัมธรรมดา                         แผ่นยิปซัมอลูมิเนียมฟลอยด์                      แผ่นยิปซัมทนไฟ 

บัวเชิงผนัง ประโยชน์ คือ

1. ปิดรอยต่อผนัง และพื้น

2. ป้องกันผนังเลอะจากการทำความสะอาด บัวจึงมักมีสีเข้มหรือสีเดียวกับพื้น 

          

ข้อควรคำนึงในการออกแบบผนัง

-ควรจะเหมาะกับประโยชน์ใช้สอยและตำแหน่งผนัง

-บริเวณผนังด้านนอกควรใช้ไม้แผ่นเพราะโดนความชื้น

-ผนังกั้นห้องภายในใช้ไม้อัดหรือยิปซัมก็ได้

ไม้มอบฝ้า (คิ้ว)

ทำหน้าที่คล้ายบัวเชิงผนัง แต่ปิดรอยต่อระหว่างผนังและฝ้าเพดานที่อาจมีช่องไม่เรียบร้อย

ทำให้ห้องดูแคบหรือเตี้ยลงได้ 

          

งานปูพื้น

กระเบื้อง ที่ใช้ปูพื้นทั่วไปในท้องตลาดมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ กระเบื้องเซรามิคเคลือบ และกระเบื้องยาง ซึ่งเป็น วัสดุสังเคราะห์ กระเบื้องเคลือบ นั้นใน การปูพื้น ต้องเตรียม พื้นคอนกรีต ให้มีผิวหน้าหยาบ เพื่อให้ปูนที่ใช้ใน การปูพื้น กระเบื้อง เกาะยึดติดกับ พื้นผิวเดิม ให้แน่นไม่หลุดร่อน

กระเบื้องยาง นั้นพื้นที่จะปูนั้นต้องเป็นพื้นขัดมันเรียบ เพราะ กระเบื้องยาง นั้นใช้ กาวยาง เป็นตัวเชื่อมประสาน ระหว่างกระเบื้องและพื้น พื้นผิวที่เตรียมไว้ปูกระเบื้องยางจึงต้องเตรียมให้ได้ระดับ ต้องแห้ง และสามารถที่จะ กันน้ำซึมได้

การปูพื้นด้วยกระเบื้องเซรามิคส์

วิธีปฏิบัติเป็นแนวทางในการปูพื้นกระเบื้องเซรามิคส์ดังนี้

1.ต้องมั่นใจว่า พื้นที่จะปู กระเบื้อง นั้นได้ทำ ความสะอาด เป็นที่เรียบร้อย ไม่มี คราบฝุ่น น้ำมัน รอยสกปรกติดอยู่ ตลอดจนไม่ลืมตรวจเช็ค ระดับพื้น หรือแนวระนาบของผนังที่จะปูถ้าไม่ได้ระดับ หรือระนาบควรตกแต่ง หรือปรับให้ได้แนวที่ต้องการ

2. พื้นที่ที่จะปู กระเบื้อง ต้องแห้ง ไม่มีความชื้น หากเป็นพื้นหรือผนังคอนกรีตนั้น พื้นที่ที่จะ ปูกระเบื้อง ได้ต้องทิ้งไว้ ให้แห้งหลังการเทพื้นหรือฉาบแล้วอย่างน้อยเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ จนแน่ใจว่าพื้นไม่มีความชื้นแล้ว จึงเริ่มลงมือปูกระเบื้องได้ครับ เพราะหากพื้นที่จะปูกระเบื้อง มีความชื้นอยู่จะมีผล ทำให้แรงยึดกันระหว่าง พื้นและวัสดุปูพื้น อ่อนลง สำหรับ พื้นชั้นล่าง ที่อยู่ติดพื้นดิน ควรรองพื้นด้วย แผ่นพลาสติก และปูนซีเมนต์ผสมทราย ที่จะทำการเทพื้นปรับระดับควรผสมน้ำยากันซึม เพื่อป้องกันความชื้นซึมขึ้นมาตามร่องยาแนว หรือผิวของกระเบื้อง

3. ในการปูกระเบื้อง นั้น ควรเว้นร่องประมาณ 1-3 ม.ม. เพื่อป้องกันปัญหาการโก่งแอ่นหลังจากการปูและใช้งาน ในการปูกระเบื้องในปัจจุบันนั้นมีวัสดุประสานอยู่สองชนิดใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ ใช้กาวซีเมนต์ หรือปูนซีเมนต์ ตามอัตราส่วน (ยกเว้น การปูกระเบื้อง ทับพื้นเดิม ซึ่งควรใช้กาวซีเมนต์ชนิดพิเศษปู หรือใช้น้ำยา ที่ช่วยเพิ่ม แรงยึดเกาะ ผสมกับกาวซีเมนต์ทั่วไป ไม่ควรใช้ปูนซีเมนต์ผสมทรายเพียงอย่างเดียว) ในการปูพื้นกระเบื้องใหม่ แนะนำให้ใช้ปูนกาวซีเมนต์ เนื่องจากมี ความแข็งแรงทนทาน สามารถยึดเกาะได้ดีรวมทั้งสะดวกและรวดเร็วกว่า

4. เมื่อปูกระเบื้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะต้องทิ้งให้ซีเมนต์แห้งอย่างน้อย 24 ช.ม. แล้วจึงยาแนว โดยปาด ตามแนวเฉียง กับร่องกระเบื้อง เพื่อให้ตัวยาแนว ลงร่องอย่างสม่ำเสมอ(ข้อสำคัญ คือ ต้องไม่ลืมทำ ความสะอาด ร่องระหว่างกระเบื้อง ก่อนการยาแนวนะครับ) เมื่อยาแนวเป็นที่เรียบร้อย ก็ควรที่จะต้องทิ้งพื้นที่ดังกล่าว ไว้ 1 อาทิตย์ก่อน การใช้งาน โดยทำความสะอาดกระเบื้อง หลังจากปุเสร็จแล้ว 24-36 ชั่วโมงและหลังจากพื้นกระเบื้องแห้ง ทำการเช็ดผิวของกระเบื้องอีกครั้ง ด้วยผ้าสะอาด

งานบันได

เรื่องของบันได จะเริ่มขั้นแรกอย่างไรตำแหน่งควรวางอย่างไรให้ดูสวยด้วยสง่าภูมิฐาน ไม่ว่าเป็นบันไดแบบโมเดิร์น หรือคลาสสิคก็ตาม บันไดขั้นแรกต้องเป็นลักษณะอย่างไรลูกตั้งลูกนอนควรสูง – กว้างแค่ไหน การเดินการก้าว จึงจะสะดวก เดินขึ้นลงด้วยท่าทางที่สง่าภูมิฐานของท่านเจ้าของบ้าน ราวจับบันได , ราวกันตกบันได ควรมีขนาดเท่าไร ดีไซน์ของราวบันได ก็เป็นจุดเด่นของบันไดเหมือนกัน มิใช่ว่าออกแบบ ทำเสร็จสวยแต่ขึ้นแล้ว ไม่สบาย เดินแล้วเหนื่อย มีลูกตั้งที่สูงไม่เท่ากันเป็นของแถมมาให้เวลาเดินหน้าจะคะมำตกบันไดเอาดื้อๆ สำหรับคนสูงอายุ ก็น่าเป็นห่วงใหญ่ แบบบันไดปกติ เช่น บันไดขึ้นตรง , บันไดตัวยู บันไดตัวเอล หรือบันไดโค้ง

ลักษณะและชนิดของบันได

1.บันไดช่วงเดียว

2. บันไดตรงมีชานพัก

3. บันไดมีชานพักและหักเลี้ยว 90 องศา

4. บันไดมีชานพักและเลี้ยวกลับ ( single dog leg )

5.บันไดเลี้ยวกลับรูปตัว U ( half turn open well )

6. บันไดเลี้ยวกลับรูปตัว U ไม่มีชานพัก

7. บันไดโค้ง หรือบันไดพัด

8. บันไดประติมากรรม สวย แต่เปลืองเนื้อที่

9. บันไดเวียน ประหยัดเนื้อที่แต่ใช้งานยาก ใช้ไม่บ่อย

                        

บันไดมี 2 ลักษณะ

  1. หล่อกับที่ ( Cast in place concrete stair )

             2.  หล่อสำเร็จ ( Precast concrete stair ) เหมาะสำหรับทำเป็น module ในปริมาณมากๆ ใช้กับอาคารสูงๆที่ต้องมีบันไดเยอะๆทั้ง 2 ชนิด จะหล่อทั้งช่วงหรือหล่อเป็นส่วนๆมาประกอบก็ได้ 

งานทาสีอาคาร

การแบ่งประเภทของสี แบ่งตามการใช้งานโดยเริ่มจากชั้นล่างสุด คือ

1. สีรองพื้น ( Primer ) หมายถึงสีชั้นแรกสุด ที่เคลือบติดวัสดุนั้นๆ เช่น สีรองพื้นกันสนิมมีหน้าที่กันไม่ให้เกิดสนิมเหล็ก หรือเกิดช้าที่สุด สีรองพื้นปูนใหม่กันด่าง คือ สีที่กันความเป็นด่างจากพื้นปูนใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเป็นด่างจากเนื้อปูน ทำปฏิกิริยากับสีทาทับหน้า ลดจำนวนสีทับหน้า วิธีนี้สามารถลดจำนวนสีทับหน้าลงได้

2. สีชั้นกลาง ( Undercoat ) เป็นสีชั้นที่สองรองจากสีรองพื้น เป็นสีที่เป็นตัวประสานระหว่างสีรองพื้นกับสีทับหน้า เป็นตัวเพิ่มความหนาของฟิล์มสี และลดการใช้สีทับหน้า

3. สีทับหน้า ( Top Coat ) เป็นสีขั้นสุดท้ายที่จะให้คุณสมบัติที่สวยงาม คงทน เงางาม มีสีมากมายให้เลือกใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น สีขาว เหลือง แดง ขึ้นอยู่กับรสนิยมและความพอใจ

4. สีทับหน้าประเภทใส ( Clear T/C ) เป็นสีที่ไม่มี Pigment จะไม่มีสีเป็นสีใสๆ หรือเหลืองอ่อน ใช้เคลือบบนวัสดุต่างๆ ให้เงามากขึ้น หรือด้าน หรือกึ่งเงากึ่งด้าน

                               

ชนิดและประเภทของสีเพื่อการใช้งาน

    สีชนิดทาภายนอกอาคาร คือ สีที่จะทาในส่วนภายนอกอาคารทั้งหมด ที่มีการระบุให้ทาสี รวมทั้งพื้นผิวส่วนที่เปิดสู่ภายนอก หรือ พื้นผิวส่วนที่จะได้รับแสงแดดโดยตรงจากภายนอกได้ ให้ทาด้วยสีประเภทอาคิลิค (Pure Acrylic Paint )โดยทำการทา 3 เที่ยว ในการทาสีทุกชนิดโดยเฉพาะสีทาภายนอกนั้น ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมพื้นผิวสำหรับการทาสีนั่นเอง เพราะกว่า 80 % ของ การวิบัติของสี เกิดมาจาก การเตรียมพื้นผิวไม่ดี ก่อนการทาสีนั้น ต้องให้แน่ใจว่า พื้นที่จะทานั้น แห้งสนิท ไม่มีสภาพ เป็นกรดด่าง หรือมีฝุ่นเกาะ ควรเป็น ผนังที่ฉาบเรียบ ไม่มีรอยแตกให้เห็น หากมีต้องทำ การโป๊วปิดรอยต่อ เสียให้เรียบร้อย ก่อน การทาสี โดยปรกติ การทาสีทุกประเภทจะทาประมาณ 2 – 3 รอบและ ไม่ควร ทาสีเกิน 5 รอบ เพราะจะทำให้ชั้นของสี มีความหนาเกินไป และหลุดร่อนได้ง่าย

     สีน้ำพลาสติกทาภายใน คือ สีที่จะทา ส่วนภายในอาคาร เช่น ผนังฉาบปูนพื้นผิว ยิปซั่มบอร์ด     กระแผ่นเรียบ หรือส่วนอื่นๆ ที่ระบุให้ทา ด้วยสีพลาสติก ( ทา 2-3 เที่ยว ) ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำสีภายในใช้ทาผนังภายนอก เนื่องจากสีภายใน ไม่ทนแดดทนฝน ทำให้สี หลุดร่อนได้ง่าย ที่คิดว่ามีราคาถูกกว่าสีทาภายนอกตั้งแต่แรกก็จะกลายเป็นแพงกว่าขึ้นมาทันที แถมยังเสียเวลาเสียความรู้สึกอีกด้วย เวลาสีหลุดล่อนแตกลายงา ส่วนในผนังที่จะทาสีน้ำมันต้องสะอาด แห้ง และสิ่งที่สำคัญมากคือ ต้องไม่มีความชื้นเพราะ ความชื้นที่มีอยู่ ภายใน หากทาสีแล้วชั้น ของสีน้ำมันจะทับทำให้ระบายอากาศไม่ได้และจะทำให้เนื้อสีพอง บวม ออกมาได้ชัดเจนมากกว่าสีน้ำ หรือ สีอาคิลิค (Acrylic) สีในแต่ละส่วนของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นภายนอก ภายใน หรือส่วนอื่นของบ้านย่อมมี รายละเอียดของสีที่ทาแตกต่างกัน

                                    

งานสุขภัณฑ์

1. อ่างล้างหน้า

ประเภทของอ่างล้างหน้าแยกตามการติดตั้ง

- อ่างล้างหน้าแบบแขวนกับผนัง จะยึดขอเกี่ยวรับอ่างล้างหน้าไว้ ที่ผนังซึ่งใน การก่อสร้าง ควรทำคานเอ็น ในบริเวณ ที่จะยึด เพื่อความแข็งแรง

          

- อ่างล้างหน้าแบบติดตั้งบนเคาน์เตอร์มี 2 แบบ คือ

1. อ่างล้างหน้าแบบฝังในเคาน์เตอร์ มีข้อดีคือ สามารถตกแต่งหน้าเคาน์เตอร์ได้เรียบร้อย และเก็บงานเดินท่อต่าง ๆได้เรียบร้อย แต่มีข้อเสีย คือ ต้องใช้วัสดุปู

            

 2.อ่างล้างหน้าแบบวางบนเคาน์เตอร์ เป็นแบบที่นิยมโดยทั่วไปการบำรุงรักษาทำได้ง่ายกว่าสามารถถอดซ่อมได้และการติดตั้ง ทำได้ง่ายไม่ต้องเจาะรู สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ

          

งานประปา

น้ำคือปัจจัยที่สำคัญใน การดำรงชีวิตของมนุษย์ เราสามารถใช้น้ำในการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งการอุปโภคและบริโภค อาคารบ้าน พักอาศัยก็เช่นเดียวกัน จำเป็นจะต้องมีการวาง ระบบน้ำประปา มาใช้ในอาคารด้วย ในการนำน้ำมาใช้กับ อาคารบ้านเรือน ทั้งหลาย จะต้องมีการวางระบบที่ดี เพื่อให้เกิดความสะดวกใน การใช้งานอีกทั้งสะดวกในการบำรุงรักษาอีกด้วย ต้องคำนึงถึง การจัดวางตำแหน่ง ท่อต่างๆได้แก่ ระบบท่อน้ำดี ระบบท่อน้ำทิ้ง ระบบท่อน้ำเสีย และ ระบบท่อระบายอากาศ ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อประสิทธิภาพ ในการใช้ ตลอดจนอายุการใช้งานที่ยาวนานและเนื่องจากระบบท่อต่าง ๆ จะถูกซ่อน

ไว้ตามที่ต่างๆเช่นในผนัง พื้น ฝ้าเพดาน ฉะนั้น ก่อนการ ดำเนินการก่อสร้างต้องมีการวางแผนให้ดี เพื่อประโยชน์ในการซ่อมบำรุงในภายหลัง และนอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้อง คำนึงถึงอีกมากมาย ดังเช่น

1) จัดเตรียมพื้นที่การเดินท่อทั้งแนวนอน แนวดิ่ง รวมถึงระยะลาดเอียงต่าง ๆ

2) ติดตั้งฉนวนในระบบท่อที่จำเป็นเช่น ท่อน้ำเย็น เพื่อลดความเสียหายจากการรั่วซึม

3) ออกแบบระบบแขวน และรายละเอียดอื่น ๆ ตามมาตรฐานของอุปกรณ์ต่าง ๆ

4) จัดเตรียมพื้นที่สำหรับการบำรุงรักษา

 

ระบบน้ำประปา มีส่วนสำคัญคือ การจ่ายน้ำที่สะอาดไปยังจุดที่ใช้งานต่าง ๆ ในปริมาณ และแรงดันที่เหมาะสม กับการใช้งาน นอกเหนือ จากนั้น ยังจะต้องมีระบบ การสำรองน้ำในกรณีฉุกเฉิน หรือมีการปิดซ่อม ระบบภายนอก หรือช่วงขาดแคลนน้ำ และในอาคาร บาง ประเภท ยังต้องสำรองน้ำสำหรับ ระบบดับเพลิงแยก ต่างหากอีกด้วย

หลักการจ่ายน้ำภายในอาคารมี 2 ลักษณะคือ

1) ระบบจ่ายน้ำด้วยความดัน (Pressurized/Upfeed System)

เป็นการจ่ายน้ำโดยอาศัย การอัดแรงดันน้ำ ในระบบ ท่อประปาจากถังอัดความดัน (Air Pressure Tank) ระบบที่ใช้กับ ความสูงไม่จำกัด ทั้งยังไม่ต้องมี ถังเก็บน้ำ ไว้ดาดฟ้าอาคาร

2) ระบบจ่ายน้ำโดยแรงโน้มถ่วง (Gavity Feed/Downfeed System)

เป็นการสูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้บนดาดฟ้าแล้ว ปล่อยลงมาตามธรรมชาติ ตามท่อต้องเป็นอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10 ชั้น ขึ้นไป ถือเป็น ระบบ ที่ไม่ซับซ้อนไม่ต้องใช้ไฟในการจ่าย แต่จะต้องเตรียมถังเก็บน้ำ ไว้บนดาดฟ้า จึงต้องคำนึงถึง เรื่องโครงสร้างในการ รับน้ำหนัก และความสวยงามด้วย

ในการสำรองน้ำสำหรับการใช้งานนั้นจะต้องมีการใช้ถังเก็บน้ำแบบต่าง ๆ มาประกอบการใช้งาน ถังเก็บน้ำที่มีใช้กันอยู่โดยทั่วไป ในปัจจุบันนั้นมีหลายแบบให้เลือกใช้ รวมทั้งอาจจะต้องมีเครื่องสูบน้ำติดตั้งอีกด้วย แต่เครื่องสูบน้ำนั้น ห้ามต่อระหว่าง ระบบสาธารณะ กับถังพักน้ำในบ้าน เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเนื่องจาก เป็นการสูบน้ำจากระบบสาธารณะ โดยตรงซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้อื่น การสูบน้ำในบ้านจะต้องปล่อยให้น้ำจาก สาธารณะมาเก็บ ในถังพักตาม แรงดันปกติเสียก่อนแล้วค่อยสูบน้ำไปยังจุดที่ต้องการอื่น ๆได้

 

ตำแหน่งที่ตั้งถังเก็บน้ำที่ใช้งานทั่วไปมีที่ตั้ง 2 แบบคือ

 

- ถังเก็บน้ำบนดิน ใช้ในกรณีที่มีพื้นที่เพียงพอกับการติดตั้ง อาจติดตั้งบนพื้นดิน หรือบนอาคาร หรือติดตั้งบนหอสูง เพื่อใช้ประโยชน์ ในการใช้แรงดันน้ำ สำหรับแจกจ่ายให้ส่วนต่างๆของอาคาร การดูแลรักษาสามารถทำได้ง่ายแต่อาจดูไม่เรียบร้อยและไม่สวยงามนัก

- ถังเก็บน้ำใต้ดิน ใช้ในกรณีที่ไม่มีพื้นที่ในการติดตั้งเพียงพอและต้องการให้ดูเรียบร้อยสวยงามการบำรุงดูแลรักษาทำได้ยาก ดังนั้นการก่อสร้าง และการเลือก ชนิดของถังต้องมีความละเอียดรอบคอบ

 

ชนิดถังเก็บน้ำ

1. ถังเก็บน้ำ ค.ส.ล. เป็นถังที่มีความแข็งแรงทนทานสามารถสร้างได้ทั้งแบบอยู่บนดิน และใต้ดิน แต่ทีน้ำหนักมาก การก่อสร้าง ต้องระวังเรื่องการรั่วซึม ดังนั้นต้องทำระบบกันซึมและต้องเลือกชนิดที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย

 

2.ถังเก็บน้ำสแตนเลส เป็นถังน้ำสำเร็จรูปโดยใช้โลหะสแตนเลสที่ไม่เป็นสนิม มีความทนทานต่อการใช้งาน นิยมติดตั้งเป็น ถังน้ำบนดิน

3. ถังเก็บน้ำไฟเบอร์กลาส เป็นถังเก็บน้ำสำเร็จรูป ใช้วัสดุไฟเบอร์กลาสที่มีความยืดหยุ่นสูงไม่แตกหักง่าย มีน้ำหนักเบา รับแรงดันได้ดีและไม่เป็นพิษกับน้ำสามารถติดตั้งได้ทั้งบนดินและใต้ดิน

4. ถังเก็บน้ำ PE (Poly Ethelyn) เป็นถังเก็บน้ำที่ใช้วัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ทำท่อน้ำประปา สามารถรับแรงดัน ได้ดีมีน้ำหนักเบา ใช้ติดตั้ง ได้ทั้งบนดินและ ใต้ดิน

การเลือกและออกแบบถังน้ำจะต้องมีข้อคำนึงถึงคือ

 - ต้องคำนึงถึงอายุการใช้งานของถังเก็บน้ำ

- ขนาดและจำนวนถังเก็บน้ำจะต้องมีปริมาณน้ำสำรองที่พอเพียงต่อการใช้งาน สำหรับบ้านพักอาศัยจะใช้น้ำที่ ประมาณ 200 ลิตร / คน / วัน

- จะต้องจัดเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งถังเก็บน้ำสำหรับอาคารด้วย

- จะต้องมีความสะดวกสบายในการติดตั้ง การดูแลรักษาและทำความสะอาด

- ระบบท่อที่เชื่อมต่อกับถังเก็บน้ำจะต้องดีมีคุณภาพ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในภายหลัง เช่น น้ำรั่ว หรือชำรุดเป็นต้น

ชนิดของท่อประปา

- ท่อประปาเหล็กอาบสังกะสี

ข้อดี มีความแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี ทนทานต่อแรง กระแทกได้ ไม่หักงอ ทนต่อความดันและอุณหภูมิที่สูงๆ เช่น เครื่องทำน้ำร้อน

ข้อเสีย ราคาค่อนข้างแพง ถ้าใช้ไปนานๆ อาจเกิดสนิม ได้ โดยเฉพาะที่ฝังอยู่ในดิน อาจเป็นอันตราย ถ้านำน้ำในท่อ มารับประทาน

- ท่อประปาพีวีซี (PVC.)

ข้อดี น้ำหนักเบา ราคาถูกกว่า สามารถดัดงอได้ และ ไม่เกิดสนิมน้ำในท่อจะสะอาดกว่า

ข้อเสีย ไม่สามารถทนต่อแรงกระแทกแรงๆ ได้ ไม่ทน ต่อความดันและอุณหภูมิที่สูง

- ชนิดของท่อพีวีซี (PVC.)

ท่อพีวีซี (PVC.) แบ่งตามชนิดการใช้งาน โดยใช้สี ดังนี้

1. ท่อสีเหลือง เป็นท่อสำหรับร้อยสายไฟฟ้า และสาย โทรศัพท์ เพราะสามารถทนต่อความร้อนได้อย่างดี

2. ท่อสีฟ้า เป็นท่อที่ใช้กับระบบน้ำ เช่น น้ำดี น้ำเสีย และการระบาย สามารถทนแรงดันน้ำได้มากน้อยตามประเภท การใช้งาน (มีหลายเกรด)

3. ท่อสีเทา เป็นท่อที่ใช้สำหรับการเกษตร หรือน้ำทิ้ง ก็ได้ ราคาค่อนข้างถูก ไม่ค่อยแข็งแรง ควรจะเดินลอย ไม่ควร ฝังดิน

วิธีการเดินท่อประปา โดยทั่วไปแล้วการเดินท่อประปาภายในบ้าน จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ

1. การเดินท่อแบบลอย คือ การเดินท่อติดกับผนัง หรือวางบนพื้น การเดินท่อแบบนี้จะเห็นได้ชัดเจน สามารถ ซ่อมแซมได้ง่าย เมื่อเกิดปัญหา แต่จะดูไม่สวยงาม

2. การเดินท่อแบบฝัง คือ การเจาะสกัดผนัง แล้ว เดินท่อ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็ฉาบปูนทับ หรือเดินซ่อนไว้ใต้ เพดานก็ได้ ซึ่งจะดูเรียบร้อยและสวยงาม แต่เมื่อมีปัญหาแล้ว จะซ่อมแซมยาก

- วิธีการเดินท่อประปาในส่วนที่อยู่ใต้ดิน

การเดินท่อประปาจะมีทั้งท่อส่วนที่อยู่บนดิน และบาง ส่วนจะต้องอยู่ใต้ดิน ในส่วนที่อยู่บนดิน อาจใช้ท่อ PVC. หรือท่อเหล็กชุบสังกะสี (GAVANIZE) ก็ได้ แต่สำหรับท่อ ที่อยู่นอกอาคาร โดยเฉพาะท่อที่อยู่ใต้ดิน บริเวณใต้อาคาร ควรใช้ท่อ PE ท่อชนิดนี้ มีคุณสมบัติ พิเศษ ในการบิดงอโค้งได้ ในกรณีเดินผ่านเสาตอม่อ หรือคานคอดิน สำหรับท่อธรรมดา จะมีข้อต่อมากซึ่งเสียงต่อการรั่วซึม และที่ สำคัญ เมื่อมีการทรุด ตัวของอาคาร หากเป็นท่อ PVC. หรือท่อเหล็กชุบสังกะสี จะ ทำให้ท่อแตกร้าวได้ แต่ถ้าเป็นท่อ PE จะมีความ ยืดหยุ่นกว่า ถึงแม้จะมีราคาที่สูง แต่ก็คุ้มค่า เพราะถ้าเกิดการรั่วซึมแล้วจะ ไม่สามารถทราบได้เลย เพราะอยู่ใต้ดิน

 

- วิธีการใช้สต๊อปวาล์ว เมื่อติดตั้งสุขภัณฑ์

โดยทั่วไปการติดระบบประปากับสุขภัณฑ์ เพียงต่อท่อ น้ำดีเข้ากับตัวเครื่องสุขภัณฑ์ก็สามารถใช้งานได้แล้ว แต่ถ้าเกิด ปัญหาที่จะต้องการซ่อมแซม ก็จะต้องปิดมิเตอร์น้ำด้านนอก เพื่อหยุดการใช้น้ำ ซึ่งจะทำให้ภายในบ้านทั้งหมดไม่สามารถใช้ น้ำได้ ทางออกที่ดีก็คือ ให้เพิ่มสต๊อปวาล์วในบริเวณส่วนที่จ่าย น้ำเข้ากับสุขภัณฑ์ เพื่อที่เวลาทำการซ่อมแซม สามารถที่จะปิด วาล์วน้ำได้ โดยที่น้ำในห้องอื่นๆ ก็ยังสามารถใช้งานได้

 

- วิธีการตรวจสอบระบบประปา

ตรวจสอบอุปกรณ์ภายในบ้าน โดยปิดก็อกที่มีอยู่ ทั้งหมดแล้วสังเกตที่มาตรวัดน้ำ ถ้าตัวเลขเคลื่อน แสดงว่า มีการรั่วไหลเกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการรั่วซึม หรือมีอุปกรณ์ บางอย่างแตกหักหรือชำรุด ก็จัดการหาช่างมาแก้ไขให้เรียบร้อย นอกจากภายในบ้านแล้ว ยังสามารถตรวจสอบการรั่ว ไหลของน้ำในเส้นท่อที่อยู่นอกบ้าน โดยสังเกตพื้นดินบริเวณ ท่อแตกรั่วนั้น จะมีน้ำซึมอยู่ตลอดเวลา และบริเวณนั้นจะ ทรุดตัวต่ำกว่าที่อื่น นั่นคือสาเหตุที่ทำให้น้ำประปาไหลอ่อน ลง ก็ควรแจ้งไปยังสำนักงานประปาในเขตนั้น

 

Visitors: 141,451